จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พุทธจริยธรรมกับปัญหาสิ่งแวดล้อม (ตอนจบ)





พุทธจริยธรรมกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
                         พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันหนึ่งของสังคม มีหน้าที่ให้การศึกษาอบรมสั่งสอนศาสนิกชนของตนให้มีจิตสำนึกที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์  ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม  องค์กรพุทธศาสนาไม่มีเครื่องมือมากพร้อมที่จะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติได้โดยตรงอย่างบางหน่วยงาน  แต่ก็มีพุทธธรรมเป็นแสงสว่างส่องใจให้แก่มนุษย์ได้มองเห็นตนเอง พฤติกรรมของตนเอง ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง เปลี่ยนแปลงชีวิตตนเอง ให้มีคุณค่า  เกิดมาไม่ได้สร้างสรรค์อะไรแก่โลกมาก แต่ไม่สร้างความหายนะแก่โลกมากนักก็น่าจะพอใจได้   ความสูญเสียของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากจะมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่เป็นรูปธรรมอันเป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไปแล้ว  ความคิดที่ปราศจากปัญญา ขาดวิจารณญาณในการมองปัญหาอย่างเป็นกระบวนการและระบบ  ก็เป็นสาเหตุสำคัญแห่งการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่น้อย  ที่เห็นชัดเจนก็คือ  ป่าไม้ของแต่ละประเทศที่ค่อยๆ เหลือน้อยลงทุกที เพราะมนุษย์ทำลายป่าหรือแม้กระทั่งรัฐบาลเอง คิดเพียงทรัพย์สินเงินทองที่ได้รับจากป่าเป็นมูลค่าเทียม ที่สมมติกันขึ้น โดยขาดการคำนึงต่อไปว่า เมื่อป่าหมดไปแล้วผลกระทบอะไรจะตามมา  แต่พวกเขาคิดเพียงว่า เมื่อป่าหมดพวกเขายังคงร่ำรวยอยู่ดีมีสุข  น้ำในแม่น้ำลำคลองหลายสายในตัวเมืองใหญ่ๆ ที่กำลังจะเน่าอย่างพร้อมเพรียงกัน  ในขณะนี้ มีสาเหตุมาจากบรรดาเจ้าของธุรกิจอุตสาหกรรมและรัฐบาลมองปัญหาเฉพาะหน้าว่าเมื่อประเทศมีโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น  ความยากจนจะลดลง ประชาชนจะมีความสุขมากขึ้น  แต่ไม่ได้คิดต่อไปอย่างกระบวนการจนครบวงจรว่า โรงงานอุตสาหกรรมเหล่านั้นจะปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำแล้วน้ำจะเน่าปลาจะตาย นานไปน้ำอุปโภคบริโภคจะขาดแคลนไปทั่ว ดังเช่นประทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย   ประชาชนแม้จะมีเงินมหาศาลมากองท่วมหัวแต่ถ้าต้องดื่มน้ำเน่าที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคก็คงจะหาความสุขไม่ได้   โรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายนอกจากจะสร้างความชอกซ้ำให้แก่แม่น้ำลำคลองอย่างทั่วถึงแล้ว ในขณะนี้ก็ยอมรับกันแล้วว่าปฏิกิริยาเรือนกระจก ซึ่งทำให้อุณหภูมิร้อนขึ้นทุกวัน ก็มีสาเหตุมาจากควันพิษที่ปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมนั่นเอง  เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับความแห้ง เพราะไม่เหลือป่าให้ความชุ่มชื่นอีกต่อไปแล้ว น้ำในแม่น้ำลำคลองก็เน่าไปหมด  อากาศบริสุทธิ์ที่หายใจก็กลายเป็นอากาศมีพิษ ชีวิตของมนุษย์ก็จะมีความปลอดภัยน้อยลง  มีความสุขน้อยลงแต่ความมทุกข์กลับทับถม ทวีคูณประดังเข้ามาทุกด้าน  เหล่านี้คือผลอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่ขาดความพร้อมในด้านนามธรรม  ขาดสติสัมปชัญญะที่ถูกต้อง  ขาดความเห็นต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่ถูกต้อง ปัญญาแห่งการมองสรรพสิ่งตามความเป็นจริงอย่างถึงแก่นครบวงจรเป็นกระบวนการ


หลักคำสอนให้รู้จักประมาณในการบริโภค     
                         พระพุทธศาสนามีคำสอนที่สนับสนุนการพัฒนาจิตใจให้มีคุณภาพเหล่านี้อย่างเพียงพออยู่แล้ว  เช่น เรื่องความกตัญญู,  หลักการรู้จักประมาณในการบริโภค, ศีล 5,  หลักสันโดษ, หลักอหิงสา, เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ, เรื่องสมาธิ, ปัญญาและเรื่องนิพพานซึ่งเป็นหลักธรรมขั้นสูงสุด   เป็นต้น
         ด้านคำสอน พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการดำเนินการทางสายกลาง หลักคำสอนส่วนใหญ่มุ่งให้บุคคลดำรงชีวิตในทางที่เหมาะ  ไม่ตึงเกินไปและหย่อนเกินไป  การดำเนินการทุกอย่างให้คำนึงถึงความพอดีเป็นสำคัญ  ข้อนี้รวมเอาการรู้จักใช้บริโภค  และบริโภคอย่างพอเหมาะไม่มากเกินไป (โภชเน มัตตัญญุตา)    จึงกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาไม่ส่งเสริมให้มีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้มากจนเกินพอดี    โลกปัจจุบันนี้กำลังประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายด้าน  เนื่องจากมนุษย์บริโภคทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป มนุษย์ไม่รู้จักใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม และกลมกลืนกับธรรมชาติ  มีการทำลายธรรมชาติมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น 


ระบบนิเวศแบบองค์รวม สอดคล้องกับหลักพุทธจริยธรรม
         กล่าวได้ว่า พุทธจริยธรรมกับสภาวะแวดล้อมของโลกแบบองค์รวม มีความสอดคล้องกับจริยธรรมแห่งระบบนิเวศวิทยา คือทัศนะที่เห็นความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่งทั้งหลาย  ว่ามีสามัญลักษณะคือมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดำรงสภาพอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วแปรเปลี่ยนไปหรือสลายไปตามกาลเวลา  สามัญลักษณะนี้คือลักษณะที่เป็นสามัญเหมือนกันในทุก ๆ  สิ่ง เป็นสัจธรรม เป็นความจริงแท้ ขณะที่นิเวศวิทยาอธิบายการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งในรูปของวัฎจักรของสสาร เช่น วัฎจักรของคาร์บอน และวัฎจักรของธาตุอาหารซึ่งจะมีการหมุนเวียนอยู่ในสิ่งแวดล้อมและเข้าสู่สิ่งมีชีวิตหนึ่ง  แล้วไปสู่อีกสิ่งมีชีวิตหนึ่ง  แล้วคืนกลับสู่สิ่งแวดล้อมและถูกหมุนเวียนกลับไปใช้ใหม่โดยสิ่งมีชีวิตใหม่อีกต่อไปเป็นวัฎจักร และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายล้วนต้องสลายทั้งสิ้น มนุษย์ต้องมีความสำนึกรักษ์และรับผิดชอบต่อโลกมากขึ้น ดังที่ Nash19 กล่าวว่า   โลกเล็กลงทุกที และต้องพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้น…. ทุกวันนี้ ยิ่งกว่าที่แล้วมา จะต้องอธิบายชีวิตในความหมายที่มีความรับผิดชอบต่อจักรวาลมากขึ้น มิใช่แต่เพียงความรับผิดชอบระหว่างชาติต่อชาติ มนุษย์ต่อมนุษย์เท่านั้น แต่มนุษย์ยังต้องรับผิดชอบชีวิตในรูปแบบอื่นๆ ด้วย
                         ทัศนะที่มองเห็นความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่งนี้ย่อมทำให้สามารถลดและละความโลภลงได้  เพราะย่อมประจักษ์แก่ใจได้ว่าตนเองก็ย่อมสลายไป ลูกหลานของตนก็สลายไป  ทรัพย์สมบัติและที่ดินของตนก็ย่อมแปรเปลี่ยนไป  ย่อมไม่อาจยึดมั่นไว้ได้  มโนคติเช่นนี้ก็จะโน้มนำให้บุคคลมีวิถีดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย  และจำเป็นต้องกระตุ้นเพื่อต้านกระแสบริโภคนิยม (Consumerism) เพราะการบริโภคเพื่อตัณหาจะไม่มีวันพอเพียง ความต้องการของมนุษย์มากเท่าไรจึงจะพอ? (How  much is enough) 
         สำหรับพุทธจริยธรรมสภาวะแวดล้อมมีท่าทีที่เน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  นั่นคือ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งมีค่าในตัวมันเอง  มนุษย์ไม่ได้เป็นศูนย์กลาง(Anthropocentric) หรือเจ้านายของโลก  และธรรมชาติเป็นทาส   แต่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ (Man is a part of nature) มองธรรมชาติ พืช สัตว์ มนุษย์ ต่างอิงอาศัยกันและกัน หรือ มองแบบองค์รวม (Holistic view)  ทุกสิ่งในระบบนี้ ต่างอาศัย เกื้อกูลซึ่งกันและกัน  มนุษยไม่สามารถแยกตัวจากระบบนิเวศได้เลย  พระพุทธศาสนาเน้นความรักและความเมตตาต่อสรรพสัตว์  ไม่เพียงแต่จะห้ามฆ่าสิ่งมีชีวิตเท่านั้น  แต่ยังสนับสนุนการอนุรักษ์ชีวิตไม่ว่าจะด้วยวิถีทางใดก็ตาม  มนุษย์มีความกลมกลืนกับธรรมชาติ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสนองตอบต่อปัจจัยขั้นพื้นฐาน  ไม่ทำอันตรายต่อโลกทางธรรมชาติที่มนุษย์อาศัยอยู่  มีท่าที่แบบอ่อนโยน ไม่ก้าวเร้า ไม่ตักตวงต่อธรรมชาติ  ถ้าเราปฏิบัติตามดำสอนแห่งพระพุทธศาสนาที่ยึดหลักนิเวศเป็นศูนย์กลาง มนุษย์สามารถลดวิกฤตการสิ่งแวดล้อมได้


ความซาบซึ้งในคุณค่าทางสภาวะแวดล้อมต่อการปฏิบัติธรรม


                         พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ แม่น้ำ ลำธาร รวมทั้งชีวิตสัตว์ ในคัมภีร์ของพุทธศาสนาได้พรรณนาความงดงามของสิ่งแวดล้อมไว้อย่างมากมาย  ซึ่งเป็นการแสดงถึงอุดมคติของพุทธศาสนาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในการปล่อยให้สรรพสิ่งเป็นไปตามธรรมชาติ  การเสนอแนวความคิดดังกล่าวไม่มีการตีความเป็นอย่างอื่นได้  นอกจากจะชี้ให้เห็นว่า  พระพุทธศาสนาได้ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นมากเพียงไร  ดังเช่นข้อความที่พรรณนาที่ปรากฏในคัมภีร์ขุททกนิกาย อปทาน ว่า
                          ในที่ที่ไม่ไกลแต่หิมวันตประเทศ   มีภูเขาชื่อว่า  ลัมพกะ   เราสร้างอาศรมไว้อย่างดี  สร้างบรรณศาลาไว้ใกล้ภูเขานั้น อาศรมของเราไม่ไกลแต่ฝั่งแม่น้ำ อันไม่ลึก ท่าน้ำราบเรียบเป็นที่รื่นรมย์ใจ  เกลื่อนกล่นด้วยหาดทรายขาวสะอาด……  ในแม่น้ำ มีฝูงตะโข่ง มังกร จระเข้และเต่า สัตว์เหล่านั้นว่ายเล่น  อยู่ในแม่น้ำนั้น ทำอาศรมของเราให้งดงาม ฝูงปลาสวาย ปลากระบอก……ว่ายโลด กระโดดอยู่  ทำอาศรมของเราให้งดงาม…….มะม่วง ไม้รัง หมากเม่า แคฝอย ไม้ยางทราย มีดอกบาน อยู่ใกล้อาศรมของเรา  ส่งกลิ่นหอมอบอวนอยู่คล้ายกลิ่นทิพย์…… ดอกบุนนาค ดอกบุนนาคเขา ดอกแคฝอยบานสะพรั่ง….ฝูงหงส์ นกกระเรียน  นกยูง นกดุเหว่า ไก่งวง   เข้าไปอาศัยสระนั้นเลี้ยงชีวิต….”20
         ในเวลานั้น เราอยู่ในอาศรมอันสร้างไว้เรียบร้อย น่ารื่นรมย์ในป่าอันมีไม้ดอก ไม้ผลสมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบทุกอย่างนี้  หรือเช่นว่า  ภูเขานั้นชื่อภูเขาปทุมตั้งอยู่ไม่ไกลภูเขาหิมวันต์  เราทำบรรณศาลาอย่างดีไว้ใกล้ภูเขานั้น  ที่ใกล้ภูเขานั้น มีแม่น้ำ ท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ใจ น้ำใส เย็น จืดสนิท ไหลอยู่เป็นนิตย์ มีฝูงปลาสวาย
          นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงความงดงามและกลมกลืนแห่งอุทยานของธรรมชาติเช่นนี้  ธรรมชาติสร้างความซาบชึ้งแก่ภิกษุ  ถึงกับทำให้ท่านได้เปล่งคำอุทานออกมาว่า  เสนาสนะป่าอันสงบ  ปราศจากเสียงอึกทึก มุนีพึงคบหา  นี้เป็นของควรแก่สมณะ  หรือว่า  ภูเขากว้างใหญ่  น้ำใสสะอาด  เกลื่อนกล่นไปด้วยลิงและค่าง  ดาษดื่นไปด้วยน้ำ ย่อมทำใจของเราให้รื่นรมย์  เป็นต้น
          ในมหาวณิชชาดก  พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงข้อความสัญลักษณ์เกี่ยวกับคุณของป่าไม้  ไว้ว่า  ดูก่อน   พ่อค้าทั้งหลาย กิ่งทางทิศตะวันออกก็ให้น้ำ กิ่งทางทิศตะวันตกก็ให้ข้าวและน้ำ กิ่งทางทิศใต้ก็ให้นารี และกิ่งทางทิศเหนือก็ให้สิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง    ต้นไทรทำผิดอะไรหรือ ท่านจึงได้ทำลายต้นไทรนั้น
          ในที่นี้เองพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงหลักจริยธรรมทางธรรมชาติเรื่องมิตรว่า  บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาแห่งต้นไม้ใดแล้ว ไม่ควรหักรานกิ่งก้านต้นไม้นั้น  เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม
          ข้อความเหล่านี้เป็นหลักฐานชั้นเดิมของพุทธศาสนา แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาได้ตระหนักและซาบซึ้งถึงคุณค่าทางจริยธรรมของสิ่งแวดล้อมมากเพียงไร ความซาบซึ้งเกิดมาจากความตระหนักว่า ธรรมชาติเป็นเพื่อนของมนุษย์  เราเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและวิญญาณ  พระพุทธศาสนาแสดงหลักปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมในฐานะเพื่อนดังที่กล่าวมาแล้ว หลักปฏิบัติอาจดูเรียบง่าย แต่ก็เป็นหัวใจสำคัญต่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติดีเยี่ยม  หลักการนี้ยังคงความสำคัญแม้ในสมัยที่เรามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างสูงส่ง


คุณค่าแห่งป่า ตามทัศนะท่านพุทธทาสภิกขุ
                         สำหรับพระสงฆ์ไทย  ท่านพุทธทาสเป็นตัวอย่างที่มองปัญหาต่างๆ หรือมองสิ่งต่างๆ บนพื้นฐานแห่งปฏิจจสมุปบาทอันประกอบด้วยเหตุและผล สอดคล้องกันไปเป็นกระบวนการ วิธีมองสรรพสิ่งโดยผ่านวิธีปฏิจจสมุปบาท  ทำให้มองเห็นสิ่งที่มองนั้นอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งทุกแง่ทุกมุมทั้งโดยย่อและโดยพิสดาร   ท่านพุทธทาส อยู่ใกล้ชิดป่า  ศึกษาเรียนรู้อะไรจากป่ามากมาย ได้รับคุณค่าจากการอยู่ป่าทั้งพัฒนาการด้านกายและจิต ท่านได้สรุปข้อดีและข้อเสียของป่าไว้อย่างเป็นระบบว่า ป่าให้คุณแก่ผู้อยู่อาศัยเป็นอันมาก เมื่อกล่าวโดยสรุปมีดังนี้
                         1. ส่วนภายนอก หรือด้านกายภาพสำหรับผู้อาศัยป่า  กายได้พักผ่อน  ทำให้ใจดีขึ้น เพราะป่าเป็นที่ให้กายวิเวก คนอื่นที่จะไปรบกวนมีน้อย  กายวิเวกช่วยค้ำจุนให้จิตสงบที่เรียกว่า จิตวิเวกๆ ช่วยส่งไปให้ถึงขั้นอุปธิวิเวก  หมดกิเลส  กายได้พักผ่อนอยู่ใกล้สิ่งธรรมชาติ   กายจะเป็นกัมมนีโย ควรแก่การงานเป็นอุปการะตกแต่งจิตให้กล้าหาญ  แจ่มใส ปลอดโปร่ง เป็นกำลังแรงเพื่อปัญญาญาณ รู้แจ้งเห็นจริงสภาวธรรมทั้งมวลตามที่เป็นจริงต่อไป
                         2. ส่วนภายในหรือจิตภาพ ใจเย็นสนิทได้ง่าย เพราะสภาพธรรมชาติมีอำนาจในตัวมันเอง คอยดึงดูดจิตใจคนให้มองเห็นชีวิตในด้านดี  ภาพต้นไม้ ภูเขา ห้วยละหาน ธารน้ำไหล เป็นภาพที่สงบนิ่งสวยงามตามธรรมชาติ ทำให้จักษุสัมผัสของผู้ทอดทัศนาเย็นตาและเย็นใจ จิตใจของผู้นักปฏิบัติธรรมเย็นสนิทแน่วแน่ได้เพียงชั่วขณะเวลาเป็นครั้งคราว ภาพธรรมชาติจะช่วยให้เย็นสนิทแน่วแน่ได้นานยิ่งไปกว่านั้นหรือเป็นนิจไป
                         บุคคลผู้หวังจะยกจิตใจของตนให้พ้นอารมณ์หลอกลวงมายา ควรเข้าไปอยู่ป่า ผู้หวังจุดหมายปลายทางเร็วก็ต้องเคยอยู่ป่า พระพุทธองค์ประสงค์เห็นพระสงฆ์อยู่ป่า   พระองค์เองเกิดในป่า  เที่ยวประกาศแบบแห่งการดำรงชีวิตอันประเสริฐให้ชาวโลกดู ก็คลุกเคล้าอยู่กับชีวิตกลางดิน ตลอดเวลา 45 ปี และเสด็จนิพพานในป่า   พุทธบริษัทควรถือแบบอย่างทดลองวิชาอยู่ป่าดูบ้างจะได้รับความรู้พิเศษ เพิ่มความรู้เก่า ซึ่งเป็นความรู้ที่หมักหมมจมอยู่ด้วยเรื่อง
                         เมื่อกล่าวตามความเป็นจริง ป่าให้คุณแก่ผู้อยู่อาศัยมากเพียงไร  ก็ยังซ่อนเร้นไว้ซึ่งโทษอย่างมหันต์ในเบื้องหลังเหมือนกัน  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ซึ่งถือเอาใจความง่ายๆ ว่า ผู้ที่อยู่ป่าหากอกุศลวิตกครอบงำ เป็นผู้มากด้วยอกุศลบวิตกแล้ว  ก็ยิ่งเลวเสียกว่าผู้อยู่วัดใกล้บ้าน แต่ท่านทำอกุศลให้หมดไปได้ 

วิถีชีวิตของคนไทยกับป่าไม้ สัตว์ และน้ำ
                          เนื่องจากการพัฒนาประเทศทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นเหตุให้ป่าไม้ของประเทศไทยถูกทำลายลงเป็นจำนวนมาก  บางครั้งเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทั้งโดยวิธีผิดกฎหมายและอาศัยช่องว่างของกฎหมาย เจ้าหน้าที่บางคนพยายามดูแลรักษาป่าอย่างเคร่งครัด กลับต้องแพ้ภัยต่างๆ อันเกิดจากนายทุนที่มีอิทธิพล  อย่างไรก็ตามยังคงมีป่าไม้บางส่วนที่เหลืออยู่ได้ด้วยการดูแลรักษาของชาวบ้าน  เนื่องจากชาวบ้านมีความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และดวงวิญญาณที่อาศัยอยู่ในป่านั้นๆ   มีปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับพระสงฆ์และความเชื่อของชาวบ้านที่ช่วยให้รักษาป่าไม้ไว้ได้ เช่น
-                                       พระเป็นผู้รับผิดชอบและดูแลรักษาป่าไม้
-                                       ความร่วมมือขององค์กรเอกชนและเจ้าอาวาสของวัดร่วมมือกันรักษาป่าไม้
-                                       ความเชื่อเรื่องดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ
         ชาวบ้านเชื่อว่าผีบรรพบุรุษจะโกรธและสาบแช่ง ถ้าพวกเขาเข้าไปตัดไม้หรือล่าสัตว์ในป่า ดอนปู่ตา ตามความเชื่อชาวบ้านจะสร้างศาลเล็กๆ ไว้ในป่าเพื่อให้เป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณบรรพบุรุษ  ซึ่งผีบรรพบุรุษจะช่วยปกป้องรักษาและบันดาลให้เกิดสิ่งดีๆ แก่พวกเขา ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากป่าประเภทนี้ ในรูปอาหารจำพวกเห็ด พืชผัก และผลไม้มาหลายชั่วอายุคนแล้ว ชาวบ้านจะสร้างกฏ ระเบียบในการดูแลรักษาป่าขึ้นเอง เนื่องจากชาวบ้านมีความเชื่อดังกล่าวข้างต้น  องค์กรเอกชนและพระสงฆ์จึงนำมาใช้เป็นยุทธวิธีในการดูแลรักษาป่าไม้  เช่น  การประยุกต์มาใช้ในเรื่อง การบวชต้นไม้  ทำให้เกิดโครงการบวชต้นไม้เพื่อรักษาต้นไม้ขนาดใหญ่ไว้เป็นแม่ไม้ในป่าต้นน้ำลำธาร  โคงการดังกล่าวกำลังแพร่หลายไปในหลายภาคของประเทศ ช่วยให้เราสามารถรักษาป่าไม้ของชาติไว้ได้ส่วนหนึ่ง
         ประเพณีการปลูกต้นไม้ได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งในศตวรรษนี้เพื่อเแก้ไขการทำลายป่าและความไม่สมดุลของธรรมชาติที่เกิดขึ้น  ดังนั้น ในพระราชพิธีสำคัญๆ  เช่น  วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู้หัว องค์กรต่างๆ  ทั้งของรัฐบาลและไม่ใช่ของรัฐบาลก็นิยมปลูกต้นไม้  เป็นการสร้างกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
                              สังคมไทยในอดีต ในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา ชาวพุทธจะละเว้นการฆ่าสัตว์ มักปล่อยนก ปลา เต่า โคฯลฯ  เพื่อให้อิสระภาพแก่สัตว์เหล่านั้น เป็นการสืบชะตาอายุหรือให้ตนเองพ้นจากเคราะห์กรรม  แม้ชาวชนบทจับปลาจากหนอง คลอง หรือบึง ถ้าจับปลาได้ตัวใหญ่มากผิดสังเกต  จะไม่ฆ่าแต่จะปล่อยกลับไปเพราะเชื่อว่าเป็นปลาเทวดา หรือปลาพระภูมิเจ้าที่ อันเป็นความเชื่อเรื่องวิญญาณนิยม ถ้าเป็นปัจจุบัน ยิ่งจับปลาได้ตัวใหญ่มากยิ่งดีเพราะนำไปขายได้ราคาแพง  อันเป็นความเชื่อแบบวัตถุนิยม    ความเชื่อวิญญาณนิยมได้จางหายไปเพราะการพัฒนาประเทศที่เน้นด้านวัตถุแบบโลกตะวันตก  ซึ่งละเลยความดีงามทางด้านจิตใจ และขาดการมองด้านมิติวิญญาณ  ดังที่ PASSMORE21  ชาวออสเตรเลียกล่าวว่า ชาวตะวันตกขาดจริยธรรมระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ   เพราะการนับถือพระเจ้าเพียงองค์เดียวได้เข้ามาแทนที่การนับถือวิญญาณธรรมชาติหรือพหุเทวนิยม  โดยยกย่องมนุษย์เป็นนายธรรมชาติ  มองธรรมชาติว่าไม่มีวิญญาณ   เป็นเพียงวัตถุที่มีอยู่เพื่อรับใช้มนุษย์  มนุษย์จึงได้ใบขับขี่จากพระเจ้าเพื่อพิชิตธรรมชาติ และเปิดช่องทางให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมาเป็นลำดับ  ซึ่งต่างจากจริยธรรมทางตะวันออก มี ฮินดู พุทธ  เต๋า  ขงจื๊อ  เป็นต้น    นับถือธรรมชาติว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (Sacred  nature)”
                         วิถีชีวิตของพุทธศาสนิกชนนั้น มีความสัมพันธ์กับการใช้น้ำและการเป็นอยู่ที่เนื่องด้วยน้ำอย่างแนบแน่นมานาน อีกทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ ของชาวพุทธก็มักมีน้ำเป็นองค์ประกอบในพิธีนั้นๆ ทั้งในราชพิธีและพิธีกรรมของชาวบ้านทั่วไป เช่น พิธีบรมราชาภิเษก พิธีมูรธาภิเษก พิธีลงสรง พิธีก่อพระทราย พิธีโสกันต์ พิธีพิพัฒน์สัตยา  พิธีลอยกระทง เป็นต้น ล้วนมีส่วนช่วยให้เกิดความสำนึกรักและหวงแหน ทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งเป็นกระบวนการเชื่อมโยงกันและผูกพันกับชีวิตชาวพุทธตั้งแต่แรกเกิดจนตาย (เสฐียรโกเศศ22)  พิธีกรรมต่างๆ นี้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่มีอยู่ในสังคมชาวพุทธไทยที่มีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเสมอ
                         การดำรงชีวิตอยู่ด้วยการอาศัยน้ำเป็นหลักนี้ สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการดำรงชีวิตแบบชาวน้ำ การสร้างถิ่นฐานอยู่อย่างง่ายๆ  ตามแม่น้ำลำคลองซึ่งอาจเป็นอยู่ในน้ำ เช่น เรือนแพ  เรือแพ บริเวณลุ่มน้ำ
เจ้าพระยาหรืออยู่บนตลิ่งนั้น  นับเป็นกลุ่มที่ทอดให้เห็นสะพานแห่งวัฒนธรรมของชาวน้ำกับชาวบกได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น  ตลอดจนเป็นจุดกำเนิดที่แสดงออกในงานเทศกาล การละเล่นทางน้ำของชาวพุทธไทย เช่น  งานฉลองชักพระ การพายเรือเล่นสักวา การแข่งเรือ เป็นต้น  และงานด้านสถาปัตยกรรมทางน้ำที่งดงามและทรงคุณค่าทางศิลปะอื่นๆ อีกมากมาย


สรุป
                       พระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ  ป่าไม้  สัตว์ป่า  น้ำ  เป็นต้น มีหลักคำสอนที่สำคัญในพุทธศาสนามากมาย   พุทธศาสนามองว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ธรรมชาติรอบตัวมนุษย์ก็คือชีวิตที่แล่นอยู่ในตัวมนุษย์นั่นเอง  ได้แสดงถึงวิธีการที่เป็นอยู่กลมกลืนกับธรรมชาติ เป็นเพื่อนกับธรรมชาติ ไม่ก้าวร้าวและพิชิตธรรมชาติ
                      มนุษย์ทำตนเองให้แปลกแยกจากธรรมชาติ เพราะวิทยาศาสตร์ได้เปิดเผยความเร้นลับของธรรมชาติและพัฒนาเป็นเทคโนโลยีชนิดต่างๆ จนกระทั่งเข้สู่ยุคอุตสาหกรรม  จึงรับเอาท่าทีที่รุนแรงและรุกรานต่อธรรมชาติ ผลได้รับคือ สุขภาพกายและจิตเสื่อมลง ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้และหมดสิ้นอย่างรวดเร็ว  ปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ช่วยเตือนให้ระลึกถึงพุทธธรรม ชื่อว่าไม่เป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน เพราะทั้งธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตประสบความหายนะ
         พุทธศาสนาเสนอวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและรู้จักพอ ประพฤติปฏิบัติตนด้วยการใช้ปัญญาและพัฒนาจิต อยู่กับธรรมชาติไม่ควรเบียดเบียนธรรมชาติประดุจดังแมลงผึ้งสร้างรังโดยไม่ทำลายสีและกลิ่นของดอกไม้ นำเกสรด้วยจะงอยปากหรือปีกทั้งสองแล้วกลับไปทำรวงรัง
                         พระองค์ประกาศหลักธรรมแก่เพื่อนมนุษย์โดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัดแห่งชาติ เพศ เผ่าพันธุ์ สีผิว วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิต เพราะต่างล้วนเป็นผลผลิตมาจากกฎธรรมชาติเดียวกัน ยิ่งมองให้ลึกซึ้งในขั้นปรมัตถสภาวธรรม ก็ยิ่งพบว่าไม่มีสัตว์  ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีเราเขา มีแต่กระแสธรรมชาติล้วนๆ เท่านั้นที่กำลังไหลไปตามกฎของธรรมชาติ  ต่อมามีผู้คนจำนวนมากเข้าใจธรรมะของพระองค์ บ้างก็อยู่เหย้าเรือน บ้างก็มาสมัครใจใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ท่ามกลางป่าเขา อันสงบสงัดเยือกเย็น เป็นแบบอย่างชีวิตที่บริโภคทรัพยากรธรรมชาติเพียงเพื่อยังชีพ ไม่แตะต้องส่วนเกินมาตอบสนองกิเลสตัณหาตามรอยบาทของพระศาสดา กลุ่มชนเหล่านี้เรียกว่าพระสงฆ์ เมื่อมาอยู่ร่วมกันมากๆ จะเป็นต้องมีกฎระเบียบ สำหรับเป็นข้อปฏิบัติร่วมกันของหมู่คณะเรียกว่า ธรรมวินัย ซึ่งบัญญัติเป็นข้อปฏิบัติออกมา โดยหลักการมุ่งบำรุงรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ในสภาพปกติ
                         พุทธบริษัทเมื่อมีความเคารพสักการบูชาในพระรัตนตรัย พึงปฏิบัติธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด มองธรรมชาติทีทื่อยู่รอบตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชีวิต สร้างจิตสำนึกอันประกอบไปด้วยเมตตาและความกตัญญูกตเวที  ตั้งใจดูแลรักษาธรรมชาติอย่างเต็มความสามารถ
         ปัจจุบันมนุษย์กำลังมีความเข้าใจผิดว่าการทำลายธรรมชาติทำให้ตนได้รับประโยชน์มาก  จึงมุ่งหน้าทำลายธรรมชาติทุกอย่างที่ขวางหน้า เพราะทำลายแล้วได้รับประโยชน์  จึงจำเป็นจะต้องเริ่มให้การศึกษาให้มนุษย์เข้าใจทั่วกันว่า มนุษย์เกิดมาจากธรรมชาติ ธรรมชาติให้ชีวิต  ให้ความสะดวกสบาย ตราบใดธรรมชาติยังอยู่ ในสภาพปกติ  ชีวิตก็จะมีความสุขตลอดไป  แต่เมื่อใดมีทีท่าว่า  ธรรมชาติถูกทำลายจนเสียดุล  กฎธรรมชาติก็จะเริ่มแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย  ในที่สุดความทุกข์ก็จะตกแก่มนุษย์ทั่วกันโดยไม่มีเงื่อนไขว่า  ผู้นั้นมีส่วนในการทำลายหรือไม่


เอกสารอ้างอิง


1. Leopold, A. The Land Ethics in a Sand Almanac County.  New York: Ballantine Books. 1970. 
2. พุทธทาส ภิกขุ. พุทธศาสนิกกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ.  กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง.  2533.
3.  Wickkremesinghe, K.D.P. The Biography of the Buddha.  Columbo: J.W.Mawata. 1972.
4. ที.. 10/265/217. พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง.  2514.
5. .. 13/223/236. พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง.  2514.
6. สัง. . 15/169/174. พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง,  2514.
7. สัง.. 15/186/196. พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง.  2514.
8. อัง.จตุกก. 21/183/193. พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง. 2514.
9. วินย. มหา. 2/425,713/225,36. พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2514.
10. Norman, K.R. (Tr.).  Theragatha.  London: Pali Text Society. 1969.
11. พระราชวรมุนี(ประยุทธ์ ปยุตโต). พุทธธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2529.
12. วินย.มหา. 2856/460-464. พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง.  2514.
13.  ม.มูล. 2/635-638. พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง.  2514.
14. อัง. สัตตก. 23/11/53. พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง.  2514.
15. ขุ.ชา. 27/222-7/62-5.  พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง.  2514.
16. วินย.มหา. 2/635-638.  พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง.  2514.
17. วินย.มหา. 2/925-927. พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง.  2514.
18. วินย. มหา.  2/586-587. พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง.  2514.
19. Nash, Nancy. The Buddhist Perception of Nature Project. Geneva: Earl & Associates. 1987.
20. ขุ. อป. 32/95/502. พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง,  2514.
21.  John Passmore.  Man’s Responsibility for Nature.  London: Duckworth. 1974.
22. เสฐียรโกเศศ.  ชีวิตชาวไทยสมัยก่อนและการศึกษาเรื่องประเพณีไทย. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา. 2521.

*******************************************************************



               19 Nash, Nancy. The Buddhist Perception of Nature Project. Geneva: Earl & Associates. 1987.  P. 31
                         20  ขุ. อป. 32/95/502. พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง.  2514.
                         21 John Passmore. Man’s Responsibility for Nature.  London: Duckworth. 1974. P.48
                         22  เสฐียรโกเศศ.  ชีวิตชาวไทยสมัยก่อนและการศึกษาเรื่องประเพณีไทย. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา. 2521. หน้า 265.